Loading...

ประกาศ
คณะกรรมการฝ่ายการศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติ
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เรื่อง  ชี้แจงสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติงานวิชา สค. ๓๐๑ การฝึกภาคปฏิบัติ ๒ 
 
หลักการและเหตุผล 
          ๑. สถานการณ์การฝึกภาคปฏิบัติ ๒  ปีนี้มีนักศึกษาหลายคนลงทะเบียนเรียนวิชาสค.๓๐๑   การฝึกภาคปฏิบัติ ๒  ควบคู่กับการลงทะเบียนเรียนในวิชาอื่นๆ  และนักศึกษาที่เป็นนักกีฬาต้องเข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยในช่วงระยะเวลาฝึกภาคปฏิบัติ จึงเกิดคำถามกับอาจารย์นิเทศงานในคณะและอาจารย์นิเทศงานภาคสนาม ถึงมาตรการควบคุมและการกำกับติดตามให้จำนวนชั่วโมงฝึกของนักศึกษาครบตามที่กำหนด และให้การฝึกภาคปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คณะกรรมการฝ่ายการศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการกำกับ ติดตามการฝึกภาคปฏิบัตินักศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ (วิชาการฝึกภาคปฏิบัติ จำนวนการฝึกภาคปฏิบัติระดับปริญญาตรี  ๘๐๐ ชั่วโมง)  ปัจจุบันการเรียนการสอนของคณะฯยังต่ำกว่ามาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘  ข้อ ๕.๒.๑  หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพ )   
          ๒. คู่มือการฝึกภาคปฏิบัติ ๒  ระเบียบการฝึกภาคปฏิบัติ ได้กำหนดชั่วโมงการฝึกฯ ๓๖๐ ชั่วโมง การฝึกภาคปฏิบัติที่ผ่านมา หลายหน่วยฝึกภาคปฏิบัติมีการกำหนดให้นักศึกษาลงเวลาการมาปฏิบัติงานจริงของนักศึกษาในหน่วยงาน ซึ่งถือว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ดังนั้นคณะกรรมการฝ่ายการศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติ จึงเห็นว่าควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติของหน่วยฝึกภาคปฏิบัติ ให้มีมาตรฐานการฝึกภาคปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน  จึงขอให้นักศึกษาลงเวลาการฝึกภาคปฏิบัติที่จะต้องสะท้อนจำนวนชั่วโมงการฝึกปฏิบัติจริงให้ชัดเจน และเป็นผลดีกับนักศึกษาจะได้มีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจนกับอาจารย์ทั้ง  ๒ ฝ่าย 
          ๓. สมุดลงเวลาการฝึกภาคปฏิบัติ เป็นผลประโยชน์ของนักศึกษาที่จะใช้รับรองชั่วโมงฝึกงานของนักศึกษาเอง และเป็นเอกสารแสดงว่านักศึกษามีจำนวนชั่วโมงฝึกภาคปฏิบัติในหน่วยงาน/ ชุมชนไปแล้วกี่ชั่วโมง ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานในการเข้าสู่การรับรองการปฏิบัติสังคมสงเคราะห์วิชาชีพกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในระยะต่อไป  รวมทั้งนักศึกษาที่สนใจทำงานด้านอื่นๆ จะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการจัดทำ Portfolio สมัครงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ได้ด้วย 
 
 
แนวปฏิบัติการนับจำนวนชั่วโมงการฝึกภาคปฏิบัติ 
          ๑. หน่วยฝึกภาคปฏิบัติใดที่มีสมุดลงเวลาให้นักศึกษาอยู่แล้วให้คงใช้สมุดลงเวลาฉบับเดิม และให้นักศึกษานับจำนวนชั่วโมงฝึกภาคปฏิบัติจริงให้ครบ ๓๖๐ ชั่วโมง ในช่วงระยะเวลาฝึกภาคปฏิบัติ  (ระหว่างวันที่  ๒๓ มกราคม – ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ โดย นับจำนวนชั่วโมงฝึกให้ได้  สัปดาห์ละ ๕-๖ วันๆ ละไม่เกิน ๘ ชั่วโมง)    
          ๒. กรณีหน่วยฝึกงานใดไม่มีสมุดลงเวลา ให้ใช้สมุดลงเวลาฉบับนี้เป็นหลักฐานในการลงเวลาฝึกภาคปฏิบัติ และนักศึกษาควรตรวจสอบจำนวนชั่วโมงฝึกภาคปฏิบัติจริงให้ครบ ๓๖๐ ชั่วโมง ในระยะเวลาการฝึกภาคปฏิบัติ   
          ๓. สมุดลงบันทึกฉบับนี้เป็นสมุดลงเวลารายบุคคล ให้นักศึกษากรอกข้อมูลด้วยตนเอง และลงเวลาฝึกภาคปฏิบัติด้วยตนเองให้สอดคล้องกับรายงานประจำวัน การลงสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติงานถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเองในการลงเวลาฝึกภาคปฏิบัติตามความเป็นจริง ทั้งนี้ต้องอยู่ในช่วงระยะเวลาฝึกภาคปฏิบัติ  (ระหว่างวันที่ 23 มกราคม – 24 มีนาคม 2560 โดยนับจำนวนชั่วโมงฝึกให้ได้ สัปดาห์ละ 5-6 วันๆ ละไม่เกิน 8 ชั่วโมง) 
          ๔. เมื่อดำเนินการฝึกภาคปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว ในวันที่  ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ให้นักศึกษาสรุประยะเวลาการฝึกภาคปฏิบัติ ในหน้าสุดท้ายของสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติงาน  และให้อาจารย์นิเทศงานภาคสนามให้ความเห็น  และลงนามในสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติงาน  
          ๕. เมื่ออาจารย์นิเทศงานภาคสนามลงนามรับรองเสร็จแล้ว ให้นักศึกษาส่งสมุดบันทึกการฝึกปฏิบัติงานที่ ฝ่ายการศึกษาและฝึกภาคปฏิบัติ (คุณสพรรณี) ชั้น ๒ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายในวันที่  ๒๗  มีนาคม ๒๕๖๐ ก่อนเวลา  16.00 น. 
 
          ทั้งนี้ขอให้นักศึกษาที่ลงเรียนวิชาสค.๓๐๑ การฝึกภาคปฏิบัติ ๒ ในภาคการศึกษา ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๙  และอาจารย์นิเทศงานภาคสนามและอาจารย์นิเทศงานในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน  และทำให้เกิดมาตรฐานทางวิชาชีพต่อไป