Loading...

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย        :  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน   

ภาษาอังกฤษ    :  Doctor of Philosophy Programme in Social Justice and Human Rights

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ภาษาไทย         ชื่อเต็ม  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน)
                          ชื่อย่อ   ปร.ด. (ความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน)
ภาษาอังกฤษ    ชื่อเต็ม  Doctor of Philosophy (Social Justice and Human Rights)
                          ชื่อย่อ   Ph.D. (Social Justice and Human Rights)

ปรัชญา

          หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน  มุ่งสร้าง องค์ความรู้ทางวิชาการชั้นสูง เพื่อนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกมิติ และเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรมีคุณลักษณะ ดังนี้

             1)   เป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง และมีศักยภาพใน การบูรณาการความรู้และทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนสร้างและดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยุติธรรมทางสังคมและการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้

             2) เป็นผู้มีความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ปรากฏการณ์ด้านความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกมิติ

             3) เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบต่อตนเอง และสังคม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเสริมสร้างความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคม

หลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวม     

             แผน 1.1 จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต

             แผน 2.1 จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 60 หน่วยกิต

โครงสร้างหลักสูตร

นักศึกษาจะต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชา รวมไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต สำหรับแผน 1.1 และรวมไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิต สำหรับแผน 2.1 โดยศึกษารายวิชาต่าง ๆ ครบตามโครงสร้างองค์ประกอบ และข้อกำหนดของหลักสูตรดังนี้ 

                      1) แผน 1.1 (ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์)

                      หมวดวิชาบังคับ 4 รายวิชา                     (ไม่นับหน่วยกิตรวม)      

                      วิทยานิพนธ์                                        48            หน่วยกิต

 

                      2) แผน 2.1 (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์)

                      หมวดวิชาบังคับ 4 รายวิชา                 12            หน่วยกิต

                      วิทยานิพนธ์                                        48            หน่วยกิต

 

ยสม.801 แนวคิด ทฤษฎี และทางปฏิบัติเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

          แนวคิด ทฤษฎี และทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน อาทิ อาชญากรรมกับความยุติธรรม อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา สวัสดิการสังคมและระบบการคุ้มครองทางสังคม หลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านมุมมองและทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในระดับประทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล โดยการบูรณาการความรู้สหสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และนโยบายสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการศึกษาทั้งเชิงประวัติศาสตร์ และข้อโต้แย้งต่าง ๆ เกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชนอันนำไปสู่นโยบายสาธารณะผ่านตัวอย่างเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ และที่เกิดขึ้นในสังคม

ยสม.802 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณขั้นสูงทางความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

         วิธีการและทักษะการวิจัยเชิงปริมาณมุ่งเน้นไปที่เทคนิคทางสถิติขั้นสูงในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคมและประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมการทบทวนแนวคิดการออกแบบและการวัดผลการวิจัยขั้นพื้นฐาน รวมถึงการกำหนดคำถามและสมมติฐานการวิจัย การดำเนินการของตัวแปร และวิธีการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ปัจจัย การวิเคราะห์กลุ่ม และการวิเคราะห์จำแนก ตลอดจน เทคนิคการลดข้อมูลในบริบทของการวิจัยด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน และเทคนิคอื่น ๆ

 ยสม.803 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพขั้นสูงทางความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

           องค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการวิจัยเชิงคุณภาพด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมแนวคิดและทฤษฎีที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสำรวจกรอบแนวคิดและข้อพิจารณาที่แตกต่างกันในการทำวิจัยในสาขาเหล่านี้ เช่น แนวทางวิพากษ์การวิจัยเชิงคุณภาพ เทคนิคการรวบรวมข้อมูลขั้นสูง การวิเคราะห์และตีความข้อมูล การเขียนและเผยแพร่งานวิจัยเชิงคุณภาพด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

 ยสม.804 สัมมนาประเด็นความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

                สำรวจเรื่องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าใจปัจจัยที่สร้างเหตุการณ์ดังกล่าวในอดีตและปัจจุบัน ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ในประเด็นเฉพาะ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเหยียดเชื้อชาติ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ความยากจน และการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม และผู้ลี้ภัย เป็นต้น เพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน และการศึกษา          ดูงานด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

 

ยสม.901 วิทยานิพนธ์                                                                         48 หน่วยกิต

               การสร้างโครงการวิจัยและดำเนินการวิจัยอันก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน เขียนวิทยานิพนธ์ด้านความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน การเขียนรายงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ จริยธรรมในการวิจัย และจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ

 

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  1. ผู้บริหารทั้งภาครัฐ ทั้งในระดับต่าง ๆ และผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  2. พนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

  3. นักวิชาการ

  4. เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน ฝ่ายปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

 

ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษชน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) ปี 2568

การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษชน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) ปี 2568