Loading...

ความเป็นมาและปัจจุบัน

          คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๙๗ และมีพระราชบัญญัติจัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๙๗ โดยมีหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐอันเกี่ยวกับการประชา สงเคราะห์และการประกันสังคม และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาในด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ การประกันสังคม และการประชาสัมพันธ์ อันเป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคม ให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ดังนั้น คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จึงถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันสถาปนาคณะนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

          การศึกษาของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในระยะแรกแบ่งออกเป็น ๒ แผนกวิชา คือ แผนกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และแผนกวารสารศาสตร์ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๘ เพิ่มแผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขึ้นมาอีกแผนกหนึ่ง

          พ.ศ.๒๕๑๓ แผนกวารสารศาสตร์ ได้แยกไปตั้งเป็นแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และยกฐานะเป็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒

          พ.ศ.๒๕๒๐ แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้แยกไปตั้งเป็นแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และยกฐานะเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗

พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) ให้แบ่งส่วนราชการในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ออกเป็น ๓ ส่วน คือ สำนักงานเลขานุการ ภาควิชาการพัฒนาชุมชน และภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

          พ.ศ.๒๕๖๑ ได้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นภาควิชา พ.ศ.๒๕๖๑ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๑๔๔ ง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป ให้แบ่งส่วนงานในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นภาควิชา จำนวน ๒ ภาควิชา คือ ๑) ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และ ๒) ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชน