ชื่อหลักสูตร
พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต
Master of Science Program in Community Development
พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต
Master of Science Program in Community Development
พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต (พช.ม.)
Master of Science (Community Development) (M.Sc.(Community Development))
แผน 1 แบบวิชาการ การศึกษารายวิชาและการทำวิทยานิพนธ์
แผน 2 แบบวิชาชีพ การศึกษารายวิชาและการค้นคว้าอิสระ
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 111,920 บาท
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
1) ผู้เข้าศึกษาต้องผ่านการสอบคัดเลือกประกอบด้วย (1) การทดสอบความรู้ด้านสังคมศาสตร์และความรู้เฉพาะสาขาวิชา และ (2) การสอบสัมภาษณ์ ซึ่งหลักสูตรฯ ดำเนินการจัดสอบ
2) ผู้เข้าศึกษาต้องส่งผลทดสอบภาษาอังกฤษ TU-GET ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันภาษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ หรือ TOEFL หรือ IELTS (ผลสอบไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสมัคร)
3) เงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามประกาศรับสมัครบุคคลเข้า
ศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ/หรือ
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มุ่งผลิตนักบริหาร นักวิชาการ นักวิจัยและผู้นำชุมชนที่มีความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน มีคุณธรรม จริยธรรมและบูรณาการความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ใช้ระบบการศึกษาโดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา และ 1 ภาคการศึกษา มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
กำหนดระยะเวลาการศึกษาสูงสุด ไม่เกิน 8 ภาคการศึกษาปกติ
ดำเนินการเรียนการสอนนอกวัน – เวลาราชการ
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
ภาคการศึกษาที่ 1 เดือนสิงหาคม – ธันวาคม
ภาคการศึกษาที่ 2 เดือนมกราคม – พฤษภาคม
ระบบการศึกษา แบบชั้นเรียน (Onsite)
มีการเทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรการฝึกอบรม จำนวน 3 หลักสูตร ดังนี้
1) หลักสูตรนักพัฒนาชุมชน ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สามารถเทียบโอนรายวิชาเรียน จำนวน 2 รายวิชา
พช. 613 นวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานพัฒนาชุมชนสมัยใหม่
พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน
2) หลักสูตรพัฒนากรก่อนประจำการ ของกรมการพัฒนาชุมชน สามารถเทียบโอนรายวิชาเรียน จำนวน 2 รายวิชา
พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน
พช. 724 การพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน
3) หลักสูตรการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ของสถาบันพระปกเกล้า สามารถเทียบโอนรายวิชาเรียน จำนวน 2 รายวิชา
พช. 612 ดุลยภาพการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
พช. 722 การพัฒนาเชิงพื้นที่
จำนวนหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต
1) แผน 1 แบบวิชาการ (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์)
วิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
วิชาเลือก 6 หน่วยกิต
วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต
2) แผน 2 แบบวิชาชีพ (ศึกษารายวิชาและการค้นคว้าอิสระ)
วิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
วิชาเลือก 12 หน่วยกิต
การค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
วิชาบังคับ
แผน 1 และแผน 2 ศึกษาวิชาบังคับ 6 วิชา
พช. 611 ปรัชญาและกระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน
พช. 612 ดุลยภาพการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
พช. 613 นวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานพัฒนาชุมชนสมัยใหม่
พช. 614 สัมมนาประเด็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
พช. 615 วิธีวิทยาการวิจัยทางการพัฒนาชุมชน
พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน
วิชาเลือก
แผน 1 เลือกศึกษา 2 วิชา แผน 2 เลือกศึกษา 4 วิชา
พช. 721 การสร้างความยั่งยืนในภาวะโลกเปลี่ยนผัน
พช. 722 การพัฒนาเชิงพื้นที่
พช. 723 การสื่อสารในงานพัฒนาชุมชน
พช. 724 การพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน
พช. 725 การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน
พช. 726 การพัฒนาและการจัดการโครงการด้านการพัฒนาชุมชน
4.4 คำอธิบายรายวิชา
พช 611 ปรัชญาและกระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน ปรัชญา หลักการ กระบวนการ วิธีการ เครื่องมือ และแนวคิดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม บทบาทภาคประชาสังคมและหุ้นส่วนการพัฒนาด้านการพัฒนาชุมชนภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม
พช. 612 ดุลยภาพการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วิเคราะห์และวิพากษ์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี รวมทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการกำหนดนโยบายและการวางแผนการพัฒนาทั้งในระดับประเทศ พื้นที่และชุมชน การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ การสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนเกี่ยวกับดุลยภาพการพัฒนา การพัฒนากลยุทธ์ และการรักษาดุลยภาพระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พช. 613 นวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานพัฒนาชุมชนสมัยใหม่ การนำเทคโนโลยีและแนวทางนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ แบบจำลองโลกเสมือนจริง เพื่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาทักษะและการใช้ทรัพยากรชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยไซเบอร์ การสร้างสรรค์ชุมชนที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พช. 614 สัมมนาประเด็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ข้อถกเถียงเชิงประเด็นด้านการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สิทธิมนุษยชน การสร้างความเป็นธรรม การจัดการภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทรัพยากรและการเข้าถึงทรัพยากร การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความเข้มแข็งของชุมชน วัฒนธรรมชุมชน สุขภาพชุมชน ผลกระทบของการพัฒนา และประเด็นการพัฒนาอื่น ๆ
พช. 615 วิธีวิทยาการวิจัยทางการพัฒนาชุมชน ปรัชญาและกระบวนทัศน์การวิจัย การออกแบบการวิจัยด้านการพัฒนาชุมชน การวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การนำเสนอผลงานวิจัยด้านการพัฒนาชุมชนทั้งการพูดและการเขียน การอ้างอิงงานวิจัยตามหลักการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จริยธรรมการวิจัยและจรรยาบรรณของนักวิจัย
พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน การประยุกต์แนวคิด ทฤษฎีด้านการพัฒนาชุมชนสู่การฝึกปฏิบัติ ความรอบรู้ ทักษะการทำงานกับชุมชนในมิติที่หลากหลาย ทัศนคติ สัมพันธภาพ จริยธรรม ความเข้าใจและการยอมรับชุมชนที่หลากหลาย วิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านคุณธรรม จริยธรรมกับการพัฒนาชุมชนที่เชื่อมโยงกับมิติสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมิติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน (ปฏิบัติการ)
พช. 721 การสร้างความยั่งยืนในภาวะโลกเปลี่ยนผัน
การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของโลก มนุษยสมัย โลกาภิวัตน์ ภูมิรัฐศาสตร์ ข้อท้าทายและภัยคุกคามใหม่ของงานพัฒนาชุมชน ผลกระทบของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน แนวคิดและแนวทางการรับมือการเปลี่ยนผัน กรณีศึกษารูปแบบการรับมือของชุมชนภายใต้ภาวะวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม
พช. 722 การพัฒนาเชิงพื้นที่
กระบวนทัศน์และทำความเข้าใจความหลากหลายชุมชน การพัฒนาชุมชนในมิติที่หลากหลาย การพัฒนาบนฐานชุมชน ภูมิสังคม พหุวัฒนธรรม การจัดการชุมชน การพัฒนาข้ามพรมแดน และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาองค์กร ชุมชน และสังคม (ปฏิบัติการ)
พช. 723 การสื่อสารในงานพัฒนาชุมชน
กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน วิถีชีวิตชุมชนกับการใช้สื่อ การสื่อสารเพื่อเสริมพลังอำนาจชุมชน การพัฒนานวัตกรรมชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างการเปลี่ยนแปลง บทบาทของนักสื่อสารชุมชน สื่อพื้นบ้าน เครือข่ายสังคม ศูนย์เรียนรู้ชุมชน และการประยุกต์สื่อเพื่อการพัฒนาชุมชนในเชิงมิติสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
พช. 724 การพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน
แนวคิดหลักการและวิธีการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน การจัดการธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบการทางสังคม การเป็นภาคีเครือข่ายองค์กรทางธุรกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ รูปแบบธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและการพึ่งตนเอง บทบาทของธุรกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หน้าที่ทางธุรกิจด้านการผลิต การตลาด การเงิน การบัญชี การจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการจัดการสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ จริยธรรมทางธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
พช. 725 การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน
การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจและวางแผนพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์แนวโน้ม การนำเสนอข้อมูล การสร้างแบบแผนข้อมูล การตัดสินใจด้วยข้อมูล การตรวจสอบและประเมินผลข้อมูลอย่างแม่นยำและทันสมัยรวมถึงการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการและปัญหาของชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์
พช. 726 การพัฒนาและการจัดการโครงการด้านการพัฒนาชุมชน
การศึกษาชุมชน การวิเคราะห์ชุมชน เพื่อการเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้ง การออกแบบเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม การบริหารและระดมทรัพยากร การบริหารความเสี่ยง การประเมินโครงการ แนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมและการสานพลัง การประสานประโยชน์เพื่อความยั่งยืนของชุมชน (ปฏิบัติการ)
พช. 700 การค้นคว้าอิสระ
การศึกษาค้นคว้าเฉพาะเรื่องทางการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคมและการพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบของการวิจัย โดยยึดหลักจริยธรรมในการวิจัยและจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ดังนี้ 1) การออกแบบการศึกษา 2) การนำเสนอโครงร่างการศึกษา 3) การรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล 4) การแลกเปลี่ยนผลการศึกษา 5) การเขียนรายงานผลการศึกษา และ 6) การเขียนบทความจากการศึกษาเพื่อเผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือที่ประชุมวิชาการ
พช. 800 วิทยานิพนธ์
ศึกษา ค้นคว้าและดำเนินการวิจัยอันก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ
การพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคม และการพัฒนาท้องถิ่น โดยยึดหลักจริยธรรมในการวิจัยและจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ ดังนี้ 1) การออกแบบการวิจัย 2) การนำเสนอโครงร่างการวิจัย 3) การรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล 4) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาชุมชน 5) การเรียบเรียงและเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ และ 6) การเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือที่ประชุมวิชาการ
แผน 1 | แผน 2 |
ปีการศึกษาที่ 1 | |
ภาคเรียนที่ 1 | ภาคเรียนที่ 1 |
พช. 611 ปรัชญาและกระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน พช. 612 ดุลยภาพการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน พช. 613 นวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานพัฒนาชุมชนสมัยใหม่ วิชาเลือกที่ | พช. 611 ปรัชญาและกระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน พช. 612 ดุลยภาพการพัฒนาและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน พช. 613 นวัตกรรมและเทคโนโลยีในงานพัฒนาชุมชนสมัยใหม่ วิชาเลือกที่ 1 |
รวม 12 หน่วยกิต | รวม 12 หน่วยกิต |
ภาคเรียนที่ 2 | ภาคเรียนที่ 2 |
พช. 614 สัมมนาประเด็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พช. 615 วิธีวิทยาการวิจัยทางการพัฒนาชุมชน พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน | พช. 614 สัมมนาประเด็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พช. 615 วิธีวิทยาการวิจัยทางการพัฒนาชุมชน พช. 616 จริยศาสตร์และการสร้างจิตวิญญาณชุมชน วิชาเลือกที่ 2 |
รวม 12 หน่วยกิต | รวม 12 หน่วยกิต |
ปีการศึกษาที่ 2 | |
พช. 800 วิทยานิพนธ์ (12หน่วยกิต) | วิชาเลือกที่ 3 วิชาเลือกที่ 4 พช. 700 การค้นคว้าอิสระ (6 หน่วยกิต) |
รวม 12 หน่วยกิต | รวม 12 หน่วยกิต |
1) การทำวิทยานิพนธ์
(1) นักศึกษาจะจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้ เมื่อศึกษารายวิชามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ภาคการศึกษา มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต โดยมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และนักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน)
(2) นักศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย
(3) หลังจากจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์แล้ว นักศึกษาต้องเสนอ เค้าโครงวิทยานิพนธ์ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร เพื่อให้คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการวิทยานิพนธ์ รวมไม่น้อยกว่า 3 ท่าน
(4) อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของ สป.อว.
2) การสอบวิทยานิพนธ์
(1) อาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของ สป.อว.
(2) การสอบวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการสอบวิทยานิพนธ์ที่จะได้ผลระดับ S ต้องได้มติเป็นเอกฉันท์ จากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
3) การค้นคว้าอิสระ
(1) นักศึกษาจะจดทะเบียนทำการค้นคว้าอิสระได้ เมื่อศึกษารายวิชามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ภาคการศึกษา และจะต้องมีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต โดยมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
(2) นักศึกษาต้องทำการค้นคว้าอิสระเป็นภาษาไทย
(3) หลังจากจดทะเบียนทำการค้นคว้าอิสระแล้วนักศึกษาต้องเสนอเค้าโครงการค้นคว้าอิสระต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร เพื่อให้คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษา การค้นคว้าอิสระ และกรรมการการค้นคว้าอิสระ รวมไม่น้อยกว่า 2 ท่าน
(4) อาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระ และกรรมการสอบการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
4) การสอบประมวลความรู้
(1) การสอบประมวลความรู้เป็นการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่า
(2) นักศึกษามีสิทธิที่จะสอบประมวลความรู้ เมื่อสอบผ่านการศึกษารายวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต โดยมีค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00
(3) หลักสูตรจะเปิดสอบประมวลความรู้ ซึ่งเป็นการสอบแบบข้อเขียน และสอบปากเปล่า ปีการศึกษาละ 3 ครั้ง โดยคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบประมวลความรู้
(4) นักศึกษาจะต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายใน 3 ครั้ง มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อ ออกจากทะเบียนนักศึกษา
5) การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
แผน 1
1) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
2) สอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร มีหน่วยกิตสะสมจำนวน 36 หน่วยกิต
3) ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนน
4) สอบผ่านการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
5) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้
6) ได้ผลระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ปากเปล่าขั้นสุดท้าย โดยต้องได้มติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
7) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ หรือตอบรับให้ตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบบทความ โดยบทความจากวิทยานิพนธ์ หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding)
แผน 2
1) บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา
2) สอบผ่านรายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร มีหน่วยกิตสะสมจำนวน 36 หน่วยกิต
3) ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 ระดับคะแนน
4) สอบผ่านการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
5) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้
6) การค้นคว้าอิสระต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่า C
7) เสนอรายงานการค้นคว้าอิสระและสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย โดยคณะกรรมการสอบ และเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
8) รายงานการค้นคว้าอิสระหรือส่วนหนึ่งของรายงานการค้นคว้าอิสระต้องได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบบทความ โดยบทความจากรายงานการค้นคว้าอิสระ หรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding)
……………………………
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา รอดแก้ว
2. รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน
3. อาจารย์ ดร.เทียนชัย สุริมาศ
4. รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญประภา ภัทรานุกรม
5. รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณวดี พูนพอกสิน
6. รองศาสตราจารย์ ดร.นราเขต ยิ้มสุข
7. รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุมา อรุณจิต
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยา รุจิเสถียรทรัพย์
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพรรณ นฤภัทร
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นหทัย หนูนวล
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาลี จิรวัฒนานนท์
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ชยางคกุล
13. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี
14. อาจารย์ ดร.วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ
15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รณรงค์ จันใด
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ โทร.026132502 หรือ 0865586201 หรือ 0896927416